Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ผู้หญิงมีสิว หน้ามัน ศีรษะล้าน น้ำหนักเกินระวังเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

12 มี.ค. 2567


   การมีสิว หน้ามัน ศีรษะล้าน น้ำหนักเกินเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่หากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ  การสร้างฮอร์โมนเพศผิดปกติ นำไปสู่ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS) ซึ่งมักพบในวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 25 – 35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต
ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome)
  เป็นความผิดปกติที่เกิดจากต่อมไร้ท่อจนส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล อาการชัดเจนที่สังเกตได้ คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วนลงพุง
สาเหตุของถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  สาเหตุที่เกิดถุงน้ำในรังไข่หลายใบยังไม่เป็นที่ชัดเจนแน่ชัด แต่อาจเกิดมาจากปัจจัยความผิดปกติของฮอร์โมนหลายฮอร์โมนในร่างกายของเพศหญิง หรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
  • ฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (Hyperandrogenemia)
   คือภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) มากเกิน ทำให้แสดงลักษณะคล้ายกับเพศชาย ได้แก่ ขนขึ้นเยอะ (บริเวณหน้าอก หลัง ริมฝีปาก ต้นแขน ต้นขา) เป็นสิว ผิวมัน ศีรษะล้าน และมีกล้ามเนื้อเหมือนเพศชาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มาพบแพทย์มากที่สุด
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)
   ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะมีอาการคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กล่าวคือ เมื่อร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง น้ำตาลในเลือดจึงสูง ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น เมื่อระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติจะส่งผลให้รังไข่ถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมามากเกินไป ซึ่งจะไปรบกวนการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนี้ ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังเป็นสาเหตุให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เกิดการสะสมไขมัน เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนอีกด้วย
  • พันธุกรรม (Heredity)
  ถุงน้ำในรังไข่หลายใบจากปัจจัยด้านอื่นๆ อาจเป็นผลกระทบที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เชื้อชาติ รวมไปถึงบางครอบครัวที่มารดามีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ลูกสาวก็จะมีภาวะนี้ด้วย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
 “สำหรับโรคที่ไม่รู้สาเหตุของการเกิดที่แท้จริงอย่างถุงน้ำในรังไข่หลายใบ การตรวจสุขภาพจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยง”
อาการของถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  อาการแสดงของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงและภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้งมาน้อยมามากไม่สม่ำเสมอ ไม่มาติดต่อกันหลายเดือน เว้นช่วงห่างรอบเดือนนานกว่า 35 วัน และมีรอบประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี
  • น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จนเกินมาตรฐานอาการอ้วนจะเป็นลักษณะของการลงพุงส่งผลต่ออินซูลินสาเหตุของถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  • มีลักษณะทางร่างกายเปลี่ยนไป เกิดจากฮอร์โมนเพศชายในตัว เช่น ขนขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เสียงเปลี่ยนไปจากเดิม ผมร่วงทำให้ผมบาง หรือมีสิวขึ้น เป็นต้น
  • ภาวะมีบุตรยาก เป็นผลกระทบจากฮอร์โมนที่ผิดปกติในร่างกาย
  • อาการอื่นๆ มีรอยดำตามข้อพับสัญญาณของความเสี่ยงโรคเบาหวาน เช่น ใต้ราวหน้าอก บริเวณต้นคอ และซอกรักแร้ เป็นต้น
  • เป็นสิว ผิวมัน (Acne, oily skin) เนื่องจากเป็นภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีการสร้างไขมันที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบจึงกลายเป็นสิวตามมา
  • ศีรษะล้าน ผมบาง (Male-pattern baldness) จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย
การตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
 การตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบนั้นยังไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัด แต่แพทย์จะใช้ข้อมูลจากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ประกอบกับการตรวจร่างกายซึ่งได้แก่
  • การตรวจเช็กภายใน (Pelvic exam)
  • อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจสอบโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อแสดงภาพของอวัยวะภายในว่ามีความผิดปกติของขนาดหรือไม่
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
รักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  • การรักษาแบบไม่ใช้ยา
    • ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยให้ตนเองเครียด เพราะมีผลต่อฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลให้เกิดถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
    • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกิน และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมกัน การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนให้ดีขึ้นได้
    • กระตุ้นการตกไข่ด้วยวิธีต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร
    • การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ สำหรับผู้ที่พบการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญ
  • รักษาแบบใช้ยา 

    เนื่องจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบมีความความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ การได้รับยาฮอร์โมนที่เหมาะสม ร่วมกับการรักษาสาเหตุอื่นๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ จะช่วยให้อาการของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบดีขึ้นได้

    • ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ รักษาโดยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เดี่ยว หรือฮอร์โมนรวมเอสโตรเจนและโปรเจสติน (Estrogen - Progestin) ซึ่งมีประโยชน์ในการคุมกำเนิดและต้านฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย
    • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในรายที่มีภาวะนี้ร่วมด้วย แพทย์อาจใช้ยา Metformin เพื่อลดการสร้างกลูโคสจากตับและเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับอินซูลินลดลง
    • ภาวะไข่ไม่ตก สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร ยาที่เลือกใช้เพื่อกระตุ้นการตกไข่เป็นอันดับแรกคือ Clomiphene ซึ่งอาจใช้ร่วมกับยา Metformin ได้
    • การรักษาถุงน้ำในรังไข่หลายใบด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ห่วงอนามัยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันความผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูก
ป้องกันถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้อย่างไร
   การพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงความเครียด ตรวจอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ รวมไปถึงการรักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน สามารถดูแลสุขภาพและช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้
    ถุงน้ำในรังไข่หลายใบเป็นความเสี่ยงของผู้หญิงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจากอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง และยากที่จะป้องกัน การตรวจสุขภาพของผู้หญิงด้วยการอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่จึงสำคัญ
 
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. กมลพร เชาว์วิวัฒน์กุล แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์สตรี ชั้น 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม โทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.